ก่อนจะเลือกซื้อแอร์สักเครื่อง หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ “BTU” ครับ ซึ่งเป็นตัวเลขที่บ่งบอกถึงความสามารถในการทำความเย็นของแอร์ โดยในบทความนี้ Onetomany จะพาผู้อ่านไปเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับหน่วย BTU โดยอธิบายว่า BTU คือ อะไร, ดูตรงไหน, วิธีคำนวณและเทคนิคการเลือกแอร์ให้เหมาะสมกับขนาดห้อง เพื่อให้การเลือกซื้อแอร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ

BTU คืออะไร ?

btu แอร์

BTU ย่อมาจาก British Thermal Unit ซึ่งเป็นหน่วยวัดพลังงานที่ใช้วัดความร้อนหรือพลังงานในการทำงาน โดย 1 BTU คือปริมาณพลังงานที่ต้องใช้ในการเพิ่มอุณหภูมิของน้ำ 1 ปอนด์ขึ้น 1 องศาฟาเรนไฮต์ ในบริบทของเครื่องปรับอากาศ BTU บ่งบอกถึงความสามารถในการทำความเย็น โดยใช้หน่วย BTU/h ยิ่งแอร์มีค่า BTU สูง หมายความว่าสามารถทำความเย็นได้มากและใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น นั่นหมายความว่าหากคุณเลือกแอร์ที่มี BTU สูงเกินไป อาจทำให้เปลืองไฟโดยไม่จำเป็นนั่นเองครับ

ข้อควรรู้ระหว่างหน่วย BTU, TON และ kW

นอกจาก BTU แล้ว ยังมีการใช้หน่วยวัดพลังงานอย่าง TON และ kW เพื่อระบุความสามารถในการทำความเย็นหรือความร้อน โดยแต่ละหน่วยมีลักษณะการใช้งานและการแปลงเป็นค่าอื่น ๆ ดังนี้

TON (Cooling Ton)

คำว่า “Ton” มาจากการวัดความสามารถในการละลายของน้ำแข็ง ซึ่ง 1 Ton หมายถึงการละลายน้ำแข็ง 1 ตันใน 24 ชั่วโมง

1 Ton = 12,000 BTU/h

หากคุณพบเครื่องปรับอากาศหรือระบบทำความเย็นที่ระบุความสามารถในหน่วยของ Ton จะสามารถแปลงหน่วยนี้เป็น BTU ได้ง่ายๆ ด้วยการคูณด้วย 12,000 เช่น

2 Ton = 2 x 12,000 =  24,000 BTU/h

kW (kilowatt)

kW ย่อมาจาก “kilowatt” ซึ่งเป็นหน่วยวัดพลังงานไฟฟ้าในระบบเมตริกโดย

1 kW ≈ 3,414 BTU/h

ยกตัวอย่างหากเครื่องปรับอากาศระบุความสามารถมาในหน่วย 5kW คุณสามารถแปลงเป็น BTU ได้โดยคุณ 3,414 เช่น

5 kW = 5 × 3,414 = 17,070 BTU/h

BTU แอร์ดูตรงไหน

ตำแหน่งที่ระบุ BTU แอร์จะแตกต่างกันไปตามรุ่นหรือยี่ห้อ แต่โดยหลัก ๆ แล้วจะมีตำแหน่งที่สามารถดูขนาด BTU ได้ดังต่อไปนี้

  • แอร์บ้าน หรือ แอร์ติดผนังทั่วไป: สามารถดูได้จากฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 หรือฉลากที่ระบุข้อมูลจำเพาะที่อาจติดไว้ที่คอมเพรสเซอร์หรือที่คอยล์เย็น
  • แอร์ฝังฝ้า หรือ แอร์ติดเพดาน: วิธีดูจะยากกว่าแอร์บ้านโดยสามารถดูได้จากเนมเพลตที่ระบุไว้บนตัว Condensing Unit ที่ติดตั้งไว้นอกอาคาร
btu แอร์ดูตรงไหน
ตัวอย่างขนาด BTU แอร์บนฉลากประหยัดไฟ

วิธีคำนวณ BTU แอร์ตามขนาดห้อง

btu คำนวณ

ในการคำนวณขนาด BTU แอร์ มีปัจจัยมากมายไม่ว่าจะเป็นขนาดห้อง, ตัวแปรความแตกต่าง, ความสูงของเพดานและค่า Cooling Load โดยสามารถใช้สูตรคำนวณ

BTU = พื้นที่ห้อง (กว้างxยาว) x ค่า Cooling Load

Cooling load คือปริมาณพลังงานความร้อนที่ต้องนำออกจากอาคารหรือพื้นที่ เพื่อรักษาอุณหภูมิที่ต้องการให้อยู่ในระดับที่สบาย โดยมีการกำหนดเป็นตัวแปรได้ ดังนี้

  • ห้องที่โดนแดดจัด: 800-1000 BTU
  • ห้องที่ไม่โดนแดด: 600-800 BTU
  • ห้องออกกำลังกายหรือมีความร้อนสูง: 900-1000 BTU
  • ร้านค้าหรือร้านอาหาร: 1000-1200 BTU

ตัวอย่างการคำนวณ BTU

หากห้องมีขนาด 4 x 5 เมตร ไม่โดนแดดจัด จะสามารถคำนวณ BTU ได้ดังนี้

BTU = (4 เมตร x 5 เมตร) x 600
BTU = 20 ตารางเมตร x 600
BTU = 12,000

ดังนั้นหากคุณต้องการติดตั้งแอร์สำหรับห้องที่มีขนาด 20 ตารางเมตร ควรเลือกแอร์ที่มีขนาด 12,000 BTU ขึ้นไป

ตารางเลือก BTU แอร์ตามขนาดห้อง

หากการคำนวณนั้นยุ่งยากเกินไป คุณสามารถเลือกขนาด BTU ของแอร์ได้จากขนาดห้อง ตามตารางที่เราสรุปให้ด้านล่างนี้ครับ

BTU ขนาดห้องไม่โดนแดดจัด ขนาดห้องโดนแดดจัด
9,000 ไม่เกิน 13 ตารางเมตร ไม่เกิน 12 ตารางเมตร
12,000 ไม่เกิน 19 ตารางเมตร ไม่เกิน 16 ตารางเมตร
18,000 ไม่เกิน 26 ตารางเมตร ไม่เกิน 23 ตารางเมตร
20,000 ไม่เกิน 29 ตารางเมตร ไม่เกิน 25 ตารางเมตร
24,000 ไม่เกิน 35 ตารางเมตร ไม่เกิน 30 ตารางเมตร
30,000 ไม่เกิน 43 ตารางเมตร ไม่เกิน 38 ตารางเมตร
36,000 ไม่เกิน 52 ตารางเมตร ไม่เกิน 45 ตารางเมตร
48,000 ไม่เกิน 69 ตารางเมตร ไม่เกิน 60 ตารางเมตร
60,000 ไม่เกิน 86 ตารางเมตร ไม่เกิน 75 ตารางเมตร

ข้อดีของการเลือก BTU แอร์อย่างเหมาะสม

การเลือกขนาด BTU ของเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสมกับขนาดห้อง ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องปรับอากาศ รวมถึงความสะดวกสบายและการประหยัดพลังงานโดยมีข้อดีดังนี้

  1. ประหยัดพลังงานและค่าไฟฟ้า: หากเลือก BTU ที่เหมาะสมกับขนาดห้อง แอร์จะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องทำงานหนักเกินไป ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานและทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้า
  2. เพิ่มความสบายในห้อง: การเลือก BTU อย่างเหมาะสมจะทำให้ห้องเย็นสบายและคงอุณหภูมิที่ต้องการได้อย่างต่อเนื่อง แอร์จะไม่ต้องเปิด-ปิดบ่อย ๆ หรือทำงานหนักเกินไป ทำให้ความเย็นในห้องกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ
  3. ยืดอายุการใช้งานของเครื่องปรับอากาศ: หากเลือก BTU ที่เหมาะสม เครื่องปรับอากาศจะไม่ทำงานหนักเกินไป ซึ่งช่วยลดการสึกหรอและยืดอายุการใช้งานของเครื่องปรับอากาศได้
  4. ลดเสียงรบกวน: การทำงานของแอร์ที่ต้องเปิด-ปิดบ่อย ๆ เนื่องจาก BTU ที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดเสียงรบกวนมากขึ้น การเลือก BTU ที่เหมาะสมจะช่วยให้เครื่องทำงานเงียบและราบรื่นกว่า
  5. ป้องกันการเกิดความชื้นสะสม: แอร์ที่มี BTU สูงเกินไปอาจทำให้ห้องเย็นเร็วเกินไป แต่ระบบไม่ได้ลดความชื้นออกจากอากาศเพียงพอ ซึ่งอาจทำให้ห้องมีความชื้นสะสม การเลือก BTU ที่เหมาะสมจะช่วยลดปัญหานี้
  6. ป้องกันการทำงานที่ต่ำเกินไป: หากเลือก BTU น้อยเกินไปสำหรับขนาดห้อง แอร์จะทำงานหนักมากเกินไปเพื่อพยายามรักษาความเย็น ซึ่งอาจส่งผลให้เครื่องเสียหายเร็วขึ้น และไม่สามารถทำความเย็นได้เพียงพอ

บทสรุป

สรุปแล้ว BTU แอร์คือตัวเลขที่บ่งบอกความสามารถในการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศ ซึ่งสามารถคำนวณขนาดของ BTU ได้ง่าย ๆ จากขนาดห้องและค่า Cooling load ซึ่งการเลือกขนาดแอร์อย่างเหมาะสมมีประโยชน์กับผู้ใช้งานไม่ว่าจะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า ทำให้อากาศในห้องเย็นสบาย ลดภาระของเครื่องปรับอากาศ ช่วยลดเสียงรบกวน ป้องกันความชื้นสะสมและป้องกันการที่แอร์ทำงานหนักเกินไปจนอาจทำให้เครื่องปรับอากาศคุณเสียหายอย่างรวดเร็วครับ